วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ จัดเป็นพิธีกรรมของพระสงฆ์ ด้วยต้องประพฤติปฏิบัติตามพระพุทธบัญญัติ ที่ทรงวางเป็นระเบียบข้อบังคับให้พระสงฆ์ต้องเข้าจำพรรษาในสถานที่ที่ทรงอนุญาตให้เข้าอาศัยอยู่ได้ และพิธีกรรมวันเข้าพรรษานี้ พุทธศาสนิกชนได้มีส่วนร่วมประกอบคุณงามความดีตามหน้าที่ของชาวพุทธ เพื่อช่วยเหลือพระสงฆ์อีกทางหนึ่งด้วย
วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ เป็นวันสุดท้ายแห่งการจำพรรษาของพระ ภิกษุสงฆ์ ครบกำหนดไตรมาสคือ ๓ เดือน ตามพระพุทธบัญญัติ โดยไม่ไปค้างแรม ค้างคืนนอกสถานที่ที่ท่านตั้งใจอยู่ไว้ สำหรับพุทธบริษัททั้งชาววัดและชาวบ้านจะพร้อมใจกันกระทำบุญกุศลต่าง ๆ ตามคติประเพณีที่เคยประพฤติปฏิบัติสืบ ๆ กันมาแต่โบราณกาล เช่นมีการตักบาตรเทโว หรือเรียกตักบาตรดาวดึงส์ เป็นต้น ในวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา และวันอาสาฬหบูชา ชาวบ้านทั่วไปถือเป็น วันพระใหญ่ พุทธศาสนิกชนต่างพากันน้อมระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ด้วยการสวดมนต์สรรเสริญคุณพระรัตนตรัย ทำการบูชาปูชนียวัตถุอันได้แก่ พระธาตุเจดีย์ หรือพระพุทธปฏิมา ที่เป็นพระประธานในพระอุโบสถอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยเครื่องบูชามีดอกไม้ธูปเทียน จากนั้นก็จะกระทำประทักษิณหรือที่เรียกว่า เวียนเทียน รอบพระธาตุเจดีย์ หรือพระพุทธปฏิมาในพระอุโบสถ ด้วยการเดินเวียนขวาสามรอบ รอบแรกจะสวดบทสรรเสริญพระพุทธคุณ รอบที่สองจะสวดบทสรรเสริญพระธรรมคุณ และรอบที่สามจะสวดบทสรรเสริญพระสังฆคุณ เมื่อครบ ๓ รอบแล้วจึงนำดอกไม้ ธูป เทียน ไปบูชาพระธาตุเจดีย์หรือพระพุทธรูปในพระอุโบสถ
ในวันเข้าพรรษา ณ วัดจองคำ พระอารามหลวง หลวงปู่โอภาส โอภาโส คณะสงฆ์ สามเณร พร้อมด้วยอุบาสกและอุบาสิกา ประกอบพิธีจุดเทียนพรรษาเนื่องในวันเข้าพรรษามาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี โดยอุบาสกและอุบาสิกาได้ถวายเทียนพรรษานับพันเล่มเพื่อใช้ในการทำวัตรสวดมนต์เช้าและทำวัตรสวดมนต์เย็นของภิกษุและสามเณร ในพิธีจุดเทียนพรรษานั้น อุบาสกอุบาสิกาที่ถวายเทียนพรรษาและเข้าร่วมพิธีจุดเทียนพรรษา จะจุดเทียนพรรษาที่ตนได้ถวายแก่คณะสงฆ์วัดจองคำเพื่อเป็นกุศลกรรมสร้างบุญบารมีแก่ตนและครอบครัว รวมถึงอุทิศบุญกุศลแด่ผู้ล่วงลับ