สถานที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้า อันเป็นที่ตั้งแห่งความสังเวช ควรไปเคารพสักการะ เพื่อให้เกิดความรู้สึกสลดสังเวช และเป็น พุทธานุสติ เตือนใจมิให้ประมาท ให้เร่งขวนขวายประกอบกุศลกรรม รักษาศีล และพากเพียรบำเพ็ญภาวนา ตามวิถีทางแห่งธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงชี้แนะสั่งสอน อันจักนำมาซึ่งปัญญาสูงสุดสู่ความหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด หรืออย่างน้อยก็เข้าถึงสุคติภูมิ ปิดโอกาสการเกิดในอบายภูมิ คือ นรก เปรตวิสัย อสุรกาย และเดรัจฉาน
จากเนื้อความในมหาปรินิพพานสูตร ก่อนที่พระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระอานนท์ผู้เป็นพุทธอุปัฏฐากได้กราบทูลถามว่า
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แต่กาลก่อนมาหลังจากออกพรรษาแล้ว มีภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา หลั่งไหลมากราบไหว้พระพุทธองค์อย่างเนืองแน่น บัดนี้พระพุทธองค์จะปรินิพพานจากไปแล้ว จะให้ข้าพระองค์ทั้งหลายรำลึกคิดถึงกราบไหว้บูชาอะไรเล่า พระเจ้าข้า"
พระพุทธองค์ทรงตอบพระอานนท์ว่า
ดูก่อนอานนท์ หลังจากเราตถาคตปรินิพพานจากไปแล้ว หากพวกเธอมีความรำลึกถึงเรา และเดินตามรอยแห่งเรา จงพากันกราบไหว้บูชาสังเวชนียสถานทั้งของเรา คือ ลุมพินีวัน สถานที่เราประสูติหนึ่ง โพธิมณฑล สถานที่เราตรัสรู้หนึ่ง ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน สถานที่เราแสดงปฐมเทศนาหนึ่ง และกุสินารานคร สถานที่เราจะปรินิพพาน นี่แหละอานนท์ เป็นสถานที่สักการบูชา เป็นเนื้อนาบุญของพวกเธอทั้งหลายสืบต่อไป
อินเดีย ถิ่นกำเนิดของพระพุทธศาสนา อินเดียในสมัยพุทธกาลเรียกว่า "ชมพูทวีป" แปลว่า "ทวีปแห่งไม้หว้า" เพราะพบต้นหว้าเป็นครั้งแรกในดินแดนแห่งนี้ ซึ่งรวมเขตประเทศเนปาล อินเดีย ภูฏาน อัฟกานิสถาน ปากีสถาน และบังคลาเทศ ในปัจจุบัน อินเดีย (India) มาจากคำว่า "สินธุ" (Sindhu) ในภาษาสันสกฤต สินธุเป็นชื่อแม่น้ำสายสำคัญทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ปัจจุบันอยู่ในประเทศปากีสถาน แต่เดิมชาวเปอร์เซียเรียกคนที่อาศัยอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุว่า ชาวฮินดู (Hindu) ซึ่งมาจากคำว่าสินธุนั่นเองและเรียกดินแดนแถบนี้ว่าฮินดูสถาน (Hindustan) หมายถึง อาณาจักรที่ตั้งอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุ ต่อมาชาวกรีกซึ่งเข้ามาปกครองดินแดนแถบนี้ ได้เรียกชาวฮินดูว่า อินโดส (Indos) และเรียกแม่น้ำสินธุว่า อินดุส (Indus) และเป็นอินเดียในที่สุด
หลวงปู่โอภาส โอภาโสปรารภว่า (ในปีพุทธศักราช ๒๕๖๖)
"หลวงปู่ไม่ได้คิดอย่างอื่น ๆ คิดแต่ว่า เพื่อให้ศาสนามั่นคงได้ก็เลยสร้างมาเริ่มจากพุทธคยา ไม่่น้อยไปกว่าที่ประเทศอินเดีย แบบเดียวกันทุกประการ อาจจะใหญ่กว่าเล็กน้อย สุดท้ายนี้ ข้าพเจ้าอธิษฐานไว้ว่า สิ่งที่ข้าพเจ้าสร้างไว้นี้ ไม่มีใครงัดออกได้ อยู่ได้นานที่สุด แข็งแรงที่สุดไม่ต้องเขียนแบบมากมาย ข้าพเจ้าไปดูด้วยตัวเองที่ประเทศอินเดีย ถ่ายรูปมาทุกชิ้น ถอดแบบออกมาสร้างเหมือนจริงทุกอย่าง ต่อไปในอนาคต คนไทยก็ช่าง คนประเทศอื่น ๆ ก็ตามแต่ ถ้าไม่อยากไปเที่ยวไกล ก็สามารถมาเที่ยวที่วัดจองคำได้ที่เดียวเลย มีครบทุกประการ ทั้งพระเจดีย์พุทธคยาและ ๔ สังเวชนียสถานมาไหว้สักการะที่เดียวจบ หลวงปู่อธิษฐานอย่างนี้เสร็จแล้ว จึงสร้างขึ้นมาเพื่อให้ศาสนาในอนาคตมั่นคงเมื่อข้าพเจ้าทำได้แล้วก็ดีใจ เวลานี้ระยะสุดท้ายนี้มาทำศาสนาก็เพื่อศาสนาและเพื่อประเทศชาติ จากเนื้อที่วัดมีแค่ ๓ ไร่ ขยายเป็น ๓๘๗ ไร่กว้างขวางมากมายขนาดนี้ภายในระยะเวลา ๔๒ ปี ทำได้ขนาดนี้ก็อนุโมทนาแล้ว"
ชาตสถาน ที่พระพุทธเจ้าประสูติ
อภิสัมพุทธสถาน ที่ พระพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณใต้ควงโพธิ์ ตำบลพุทธคยา หรือ คยา
ธัมมจักกัปปวัตตนสถาน ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แขวงเมือง พาราณสี ปัจจุบันคือ สารนาถ
ปรินิพพานสถาน ที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ สาลวโนทยาน เมืองกุสินารา
ลุมพินีวัน (อังกฤษ Lumbini Vana) พระราชอุทยานร่มรื่นด้วยต้นสาละ เป็นสถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะชาวอินเดียเรียกว่า รุมมินเด ตั้งอยู่ที่อำเภอไภรวา แคว้นอูธ ประเทศเนปาล ใกล้กับชายแดนประเทศอินเดียตอนเหนือ อยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ เมืองหลวงของพระเจ้าสุทโธทนะ พระราชบิดา ปัจจุบันคือ เมืองติเลาราโกต) และกรุงเทวทหะเมืองหลวงของพระเจ้าชนาธิป (ปัจจุบันคือ สิทธารถนคร)
ในปี พ.ศ. ๒๙๔ พระเจ้าอโศกมหาราชได้เสด็จนมัสการพุทธสังเวชนียสถานณ ลุมพินีวันและโปรดให้สร้างพระอาราม พระเจดีย์ และเสาศิลาจารึกไว้เป็น สัญลักษณ์ว่า เป็นสถานที่ที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ
พ.ศ. ๒๓๘ - ๒๔๓๙ เซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิงแฮม และคณะ ได้ค้นพบเสาศิลาพระเจ้าอโศกซึ่งถูกฝังดินไว้และพบจารึกเป็นอักษรพราหมีระบุว่าที่แห่งนี้คือสถานที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ
ปัจจุบัน ลุมพินีวัน สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า ได้รับการบูรณะเป็น พุทธอุทยานทางประวัติศาสตร์ของโลก และขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลก ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ ๒๑ ที่เมืองนาโปลี ประเทศอิตาลี ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ มีดาวรวัตถุสำคัญที่ชาวพุทธนิยมไปสักการะ คือเสาหินพระเจ้าอโศกมหาราช วิหารมายาเทวี ภายในประดิษฐานภาพหินแกะสลักพระรูปพระนางสิริมหามายาทรงมีพระประสูติกาลเจ้าชายสิทธัตถะ ซึ่งเป็นวิหารใหม่ที่ทางการเนปาลได้สร้างครอบหลังเก่า และได้ขุดค้นพบศิลาจารีกรูปคล้ายรอยเท้า สันนิษฐานว่าเป็นจารึกรอยเท้าของเจ้าชายสิทธัตถะที่ทรงดำเนินได้เจ็ดก้าวใน วันประสูติ
พระพรหมมงคลวัชโรดม (หลวงปู่โอภาส โอภาโส) และคณะศิษยานุศิษย์ขอน้อมเกล้าฯ ถวายลุมพินี พุทธสั่งเวชนียสถาน ณ วัดจองคำ พระอารามหลวงเป็นพระราชกุศล แด่ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี
พุทธคยา (บาลี พุทธคยา อังกฤษ Bodh Gaya, Mahabodhi Temple) สถานที่เจ้าชายสิทธัตถะได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อกว่าสองพันหกร้อยปีมาแล้ว พุทธคยามีชื่อเรียกอีกชื่อว่า วัดมหาโพธิ์ ตั้งอยู่ที่จังหวัดคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ห่างจากริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ๓๕๐ เมตร ในอดีตตำบลที่ตั้งมีชื่อว่า อุรุเวลาเสนานิคม ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น อุเรล ได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกโลก ประเภทมรดก ทางวัฒนธรรม ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ในสมัยพุทธกาล พุทธคยาอยู่ในดินแดนที่เรียกว่าชมพูทวีป ตั้งอยู่ในหมู่บ้านนิคมชื่อว่าอุรุเวลาในแคว้นมคร เป็นสถานที่ร่มรื่น (รมณียสถาน) สะดวกด้วยโคจรคาม เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรทางจิตเมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้แล้ว พระองค์ก็ได้ประทับอยู่ ณ พุทธคยา เพื่อเสวยวิมุตติสุข (ความสุขอันเกิดจากความหลุดพ้น) อยู่ ๗ สัปดาห์ ปัจจุบัน พุทธคยาได้รับการบูรณะ และมีถาวรวัตถุที่สำคัญ ๆ คือ
"พระมหาโพธิเจดีย์" อนุสรณ์สถานแห่งการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีลักษณะเป็นเจดีย์ ๔ เหลี่ยม สูง ๕๑ เมตร วัดโดยรอบฐานได้ ๑๒๑.๒๙ เมตร ภายในประดิษฐาน "พระพุทธเมตตา" พระพุทธรูปปางมารวิชัย แบบศิลปะปาละ
"พระแท่นวัชรอาสน์" แปลว่า บัลลังก์เพชร สร้างด้วยวัสดุหินทรายเป็นรูปหัวเพชรสี่เหลี่ยม กว้าง ฟุต ๑๐ นิ้ว ยาว ๗ ฟุต ๖ นิ้ว หนา ๕ นิ้วครึ่ง ประดิษฐานอยู่ภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นพระแท่นจำลองวางทับพระแท่นเดิม เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ณ จุดนี้ มีกำแพงแก้ว ทำด้วยทองคำแท้ ล้อมรอบต้นพระศรีมหาโพธิ์ และพระแท่นวัชรอาสน์ นอกจากนี้ บริเวณโดยรอบพุทธคยายังมี กลุ่มพระเจดีย์เสวยวิมุติสุข สระมุจลินท์ บ้านนางสุชาดา ถ้ำดงคสิริ (สถานที่บำเพ็ญทุกกรกิริยา) เป็นต้น
พระพรหมมงคลวัชโรดม (หลวงปู่โอภาส โอภาโส) และคณะศิษยานุศิษย์ขอน้อมเกล้าฯ ถวายพระมหาเจดีย์พุทธคยา พุทธสังเวชนียสถาน ณ วัดจองคำ พระอารามหลวง เป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
สารนาท (บาลี: อิสิปตนมิคหายวน อังกฤษ: Sarnath, Sarangnath, Isipatana, Rishipattana) สถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา เริ่มต้นประกาศพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นที่พึ่งแก่มหาชน ทั้งหลาย ตั้งห่างจากเมืองพาราณสีไปทางเหนือราว ๙ กิโลเมตร ในสมัยพุทธกาล คือ แคว้นกาสี ชมพูทวีปหรือรัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย ในปัจจุบัน สารนาถ มาจากคำว่า สารงฺค กับ นารถ แปลว่า ที่อยู่ของสัตว์จำพวกกวาง และมีอีกชื่อว่า "อิสิปตนมฤคทายวัน" หรือ "ฤๅษีปัตนมฤคทายวัน" เป็นเขตป่าอภัยทานแก่สัตว์ สงบ ร่มรื่น เหล่าฤาษีและนักพรตต่างๆ จึงมาบำเพ็ญตบะและโยคะ รวมถึงปัญจวัคคีย์ที่ปลีกตัวมาจากเจ้าชายสิทธัตถะเมื่อพระองค์ทรงเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยา ภายในอาณาบริเวณสารนาถ มี "ธรรมเมกขสถูป" เป็นสถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาประกาศพระสัจธรรมเป็นครั้งแรก โปรดปัญจวัคคีย์จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ในระหว่างจำพรรษาแรกที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พระองค์ได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพระยสะ ภรรยา และบริวาร รวมถึง บิดามารดา ซึ่งขอรับพระรัตนตรัยเป็นสรณะนับเป็นอุบาสกอุบาสิกาคู่แรกในโลก นอกจากนี้พระพุทธองค์ทรงประกาศให้พระสาวกกลุ่มแรกออกไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาด้วย สารนาถจึงเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาแห่งแรกมาตั้งแต่นั้น
หลังพุทธกาล ในปี พ.ศ. ๒๙๕ พระเจ้าอโศกมหาราชเสด็จมาที่สารนาถ พระองค์ทรงสร้างธรรมเมกขสถูป เสาหินพระเจ้าอโศกมหาราช และสิ่งต่าง ๆ มากมาย ในบริเวณที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมธรรมเทศนา และพระธรรมเทศนาอื่น ๆ แก่ปัญจวัคคีย์ รวมทั้งหมู่คันธกุฎีของพระพุทธเจ้า เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ปัจจุบัน รัฐบาลอินเดียได้บูรณะฟื้นฟุสารนาถให้เป็นศูนย์รวมจิตใจชาวพุทธขึ้นใหม่อีกครั้ง อาทิ ธรรมเมกขสถูป ยสสถูป ฐานเจดีย์ธรรมราชิกสถูป พระมูลคันธกุฎี ซากเสาพระเจ้าอโศกมหาราช และพิพิธภัณฑ์สารนาถ ซึ่งภายในแสดงวัตถุโบราณที่สำคัญเช่นยอดหัวสิงห์พระเจ้าอโศกมหาราชและพระพุทธรูปปางแสดงปฐมเทศนา ที่ได้รับการยอมรับว่าสวยงามมาก
พระพรหมมงคลวัชโรดม (หลวงปู่โอภาส โอภาโส) และคณะศิษยานุศิษย์ขอน้อมเกล้าฯ ถวายสารนาถ พุทธสั่งเวชนียสถาน ณ วัดจองคำ พระอารามหลวงเป็นพระราชกุศล แด่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา
กุสินารา (อังกฤษ: Kusinaga, Kushinagar) พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานในพระราชอุทยานของเจ้ามัลละฝ่ายเหนือแห่งกุสินารา ชื่อว่า อุปวตฺตนสาลวนํ หรือ อุปวัตตนสาลวัน ซึ่งในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า สาลวโนทยาน แปลว่า ส่วนป่าไม้สาละ ตั้งอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำหิรัญญวดี ปัจจุบันคือ ตำบลมถากัวร์ อำเภอกุสินคร หรือกาเซีย หรือกาสยา ในเขตจังหวัดเดวเย หรือ เทวริยา รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย มีชื่อเรียกในท้องถิ่นว่ามาถากุนวะระกาโกฎ แปลว่า ตำบลเจ้าชายสิ้นชีพ
หลังพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้ว กษัตริย์แห่งมัลละก็ได้ประดิษฐานพระพุทธสรีระไว้ ณ เมือง กุสินารา เป็นเวลากว่า ๗ วัน ก่อนที่จะประกอบพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ มกุฎพันธนเจดีย์ ในวันที่ ๘ แห่งพุทธปรินิพพาน และได้สร้างเจดีย์และวิหารเป็นจำนวนมากไว้รอบ ๆ สถูปใหญ่คือ มหาปรินิพพานสถูป อันเป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า
ประมาณปี พ.ศ. ๓๑๐ พระเจ้าอโศกมหาราชเสด็จมาจาริกแสวงบุญยังกุสินาราทรงบริจาคพระราชทรัพย์ ๑ แสนกหาปณะ เพื่อเป็นค่าสร้างสถูป เจดีย์ และเสาศิลา
ปัจจุบันกุสินาราได้รับการบูรณะโดยรัฐบาลประเทศอินเดีย และมีปูชนียวัตถุสำคัญๆ คือ มหาปรินิพพาน สถูป มหาปรินิพพานวิหาร ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางปรินิพพาน ศิลปะมถุรา มีอายุกว่า ๑,๕๐๐ ปี ในจารึกระบุผู้สร้างคือ หริพลสวามี โดยนายช่างชื่อ ทินะ ชาวเมืองมถุรา "มกุฎพันธนเจดีย์" อยู่ห่างจากปรินิพพานสถูปไปทางทิศตะวันออก ๑ กิโลเมตร ชาวบ้านเรียก รัมภาร์สถูป
พระพรหมมงคลวัชโรดม (หลวงปู่โอภาส โอภาโส) และคณะศิษยานุศิษย์ขอน้อมเกล้าฯ ถวายกุสินารา พุทธสังเวชนียสถาน ณ วัดจองคำ พระอารามหลวงเป็นพระราชกุศล แด่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี